หมู่เกาะกาลาปากอสเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเอกวาดอร์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคห่างจากแผ่นดินใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้ราว 1,000 กิโลเมตร ประกอบด้วย 18 เกาะหลัก เกาะเล็ก 3 เกาะ พร้อมด้วยเกาะเล็กๆและโขดหินกลางทะเลอีกประมาณ 170 แห่ง เกาะทั้งหมดกำเนิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลและดันตัวขึ้นมาเหนือน้ำเป็นเวลาอย่างน้อยสามล้านปีมาแล้ว ถึงแม้ภูเขาไฟส่วนใหญ่จะได้ดับไปแล้ว แต่ปัจจุบันภูเขาไฟบนบางเกาะก็ยังปะทุขึ้นมาเป็นครั้งคราว พรรณพืชและสัตว์ป่าของหมู่เกาะแห่งนี้ได้จุดประกายให้ชาลส์ ดาร์วินนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษคิดค้นทฤษฎีของการกลายพันธุ์ซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือมีชื่อว่า “กำเนิดสปีซีส์” หมู่เกาะนี้ยังเป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์ซึ่งไม่พบที่อื่นใดบนโลกใบนี้ซึ่งเราจะได้ประจักษ์กันต่อไป ระบบนิเวศอันซับซ้อนและเปราะบางของหมู่เกาะยังเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าที่หายากและไม่เป็นที่รู้จักทั่วไปได้แก่เพ็นกวิน นกฟินซ์ กิ้งก่าทะเล และฉลามวาฬเป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์ของสวรรค์ซึ่งอยู่ไกลโพ้นแห่งนี้ได้ประสบภัยพิบัติในหลายศตวรรษที่ผ่านมาจากการกระทำที่โหดร้ายของมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งมีชีวิตของหมู่เกาะได้ถูกล่าล้างผลาญจนเกือบสูญพันธุ์ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลก็ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่หยุดยั้ง สัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ซึ่งได้อยู่รอดมาจนถึงวันนี้กำลังเผชิญกับการทำลายล้างให้สูญสิ้นไปจากโลกนี้ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไปเยือนหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นคนแรกได้แก่บิชอบแห่งปานามาซึ่งเรือลำที่โดยสารไปยังเปรูได้ถูกกระแสน้ำที่แรงเชี่ยวพัดพาไปค้นพบหมู่เกาะแห่งนี้โดยบังเอิญในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1535 สิ่งที่เรียกความสนใจของท่านบิชอบมากที่สุดคือเต่าบกยักษ์หลายตัวที่พบ ทำให้หมู่เกาะนี้ถูกเรียกว่าเกาะแห่งเต่าบกยักษ์ซึ่งปรากฏอยู่บนแผนที่ในปี ค.ศ. 1570 เป็นครั้งแรก ประชากรเต่าบกยักษ์ของหมู่เกาะกาลาปากอสต้องเผชิญกับการล่าอย่างทำลายล้างโดยมนุษย์มาหลายศตวรรษ ถูกล่าเป็นจำนวนนับแสนตัวเพื่อเนื้อเป็นอาหารและไขมันโดยโจรสลัด กองเรือล่าวาฬ นักล่าขนสัตว์ และกองเรือเดินทะเล เรื่องราวที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเต่าบกยักษ์ตัวหนึ่งซึ่งเผชิญกับความเป็นความตายเมื่อถิ่นอาศัยของเขาถูกรุกราน