โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างมั่ว ๆ เกิดโดยบังเอิญ หรืออยู่ๆ ก็เป็นขึ้นมาเองโดยสิ้นเชิง แต่ทุกกรณีของโรคซึมเศร้าเป็นผลจากการกระทำและการละเว้นไม่กระทำหลาย ๆ อย่างของผู้มีอำนาจ ซึ่งก็หมายถึงการตัดสินใจและนโยบายที่ผลิตซ้ำโครงสร้างและระบบที่มีอยู่นั่นเอง เราไม่อาจแยกมันออกจากการดำเนินไปตามปกติของทุนนิยมยุคปลายได้ พูดอีกแบบก็คือ เราไม่สามารถทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าในปัจจุบันนอกบริบทของโลกสัจนิยมแบบทุน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเปราะบางทางสังคม และความสิ้นหวังที่ล้วนแต่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนความเหลื่อมล้ำระหว่างอำนาจของนายทุนและอำนาจของแรงงานที่มีแต่ถ่างออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้เลย เมื่อโลกซึมเศร้า : Mark Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ เล่มนี้ ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรก เป็นการอรรถาธิบายแนวคิดเรื่องโลกสัจนิยมแบบทุนของ Mark Fisher ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ของเรา โดยเน้นไปที่ความพยายามของ Fisher ในการสร้างความเป็นการเมืองให้กับสุขภาพจิตเสียใหม่ ในบริบทของอัตราความเจ็บป่วยทางจิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนที่สอง ได้นำงานของนักวิชาการท่านอื่น ๆ มาเสริมแนวคิดของ Fisher ในเรื่องที่ว่า ทำไมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การงาน และความเพ้อฝันเรื่องการโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจก ล้วนเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า และใน ส่วนสุดท้าย ผู้เขียนได้วิเคราะห์ลัดดาแลนด์ ผ่านกรอบของโลกสัจนิยมแบบทุน และความทุกข์ทรมานทางจิต โดยถอดสารที่แสดงความต่อต้านทุนนิยมออกมาพร้อม ๆ กับชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของหนัง