ย้อนเวลากลับไปในคราวเมื่อแรกเริ่มจะสถาปนากระทรวงมหาดไทย ๑๒๐ ปี ก่อนนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะทรงดำรงตำแหน่งที่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) ย้ายจากการทรงงานด้านการศึกษา มาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ด้วยมีพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตใหม่...ให้เป็นการกวดขันมั่นคงและเป็นการสะดวกดีในการปกครองขึ้น... ซึ่งท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง ชีวิตและงานสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงเหตุการณ์เมื่อแรกทรงงานที่กระทรวงมหาดไทยความว่า ในเวลาแรกเสด็จไปไม่ได้ทรงแก้ไขอะไรเลย ไปประทับทอดพระเนตรการงานที่เขาทำกันอยู่ทุกแผนก และประทับอยู่ในห้องเจ้าคุณราชวรานุกูล (อ่วม) ผู้เป็นปลัดทูลฉลองโดยมาก จนกระทั่งทรงทราบการงานที่ทำอยู่โดยละเอียดแล้วจึงทรงคิดแก้ไข โดยทรงกราบบังคมทูลขอตั้งมณฑล และจังหวัด อำเภอ ขึ้นตามท้องที่ นับเป็นจุดเริ่มแรกการเปลี่ยนแปลงการปกครองพระราชอาณาเขต จากเดิมที่เป็นจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา อย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา กลายเป็น มณฑล และจังหวัด ท่านหญิง ได้เล่าถึง พระดำรัสของพระบิดาดังนี้ ตรัสเล่าว่า เอาแผนที่ปูขึ้นโต๊ะ มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ท่าน ๒ พระองค์เท่านั้น ยืนคิดตามแผนที่ว่าจะเอาภูเขาและทางน้ำเป็นขอบเขตมณฑล และจังหวัดต่อไป แล้วจึงลงมือออกตรวจท้องที่และเลือกคนทำงาน ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นสนุกนัก เพราะเมืองต่าง ๆ ไม่มีอยู่บนพื้นดินโดยมากอยู่ตามท้องน้ำ มีเรือนแพหรือแพอยู่ทั่ว ๆ ไป จวนเจ้าเมืองเป็นที่ว่าการ เป็นศาล เป็นคุก เสร็จไปในตัวเจ้าเมืองเองก็ได้เพียงค่าตอกตราใบละ ๑ ตำลึง คือ ๔ บาท พระองค์ท่านและสมเด็จกรมพระยาเทววงษ์วโรปการ เป็นเสนาบดีคู่แรกที่ได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๑,๐๐๐ บาทเป็นปฐม และมณฑลแรกที่จัดตั้งขึ้น คือ มณฑลพิษณุโลก