สิ่งที่นักภาษาศาสตร์คิดว่าน่าจะเป็นไปได้คือ ภาษาที่แตกต่างกันมีผลต่อ ความเร็ว ในการคิดสิ่งนั้นที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเนื้อหาจากหนังสือชื่อดังอย่าง The Outlier สัมฤทธิ์พิศวง ซึ่งเขียนว่า ระบบการเขียนเลขของจีนนั้นเอื้อต่อการเรียนเลขมาก ประการแรกคือเลขหนึ่งถึงสิบในภาษาจีนมีพยางค์เดียว ไม่ใช่อย่างภาษาอังกฤษที่มีเลขเจ็ดเป็น seven ประการที่สองเลขในภาษาจีนเอื้อกับเลขฐานสิบ เช่นสิบเอ็ดในภาษาจีนก็จะเป็น “สิบกับหนึ่ง” ไม่เหมือน “eleven” ซึ่งไม่เกี่ยวกับเลขสิบและเลขหนึ่งแต่อย่างใด ประการสุดท้ายคือเศษส่วนของภาษาจีนจะตรงไปตรงมา อย่างเศษเจ็ดส่วนสิบ ก็จะพูดว่า “มีสิบส่วนหยิบมาเจ็ดส่วน” (อาจนึกถึงหนังกำลังภายในที่ชอบพูดว่า “แบ่งพลังเจ้าออกเป็นสิบส่วนแล้วใช้เจ็ดส่วน” ) ประเด็นต่อไปนี้ส่งผลให้ คนจีนค่อนข้างจะคิดและเรียนเลขเร็ว (หลายคนโต้แย้งว่าเพราะคนจีนเก่งท่องจำเลยเรียนเลขเก่ง อาจไม่เกี่ยวกับระบบการเขียนตัวเลขเลยก็ได้ อีกอย่างที่อยากให้สังเกตคือ การนับเลขของจีนจะมีจุดเด่นคล้ายการนับเลขของไทย ซึ่งคนไทยก็เก่งเลขมากเช่นกัน) เราสามารถมองภาษาเป็นเหมือนกองหนังสือที่ซ้อนกัน แต่ละภาษาล้วนเป็นหนังสือชุดเดียวกันนั่นแหละ เพราะไม่มีภาษาใดดีกว่าภาษาใด แต่ลำดับการกองไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละภาษามีความเร็วในการคิดบางเรื่องไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทุกภาษาย่อมมีจุดแข็งและจุดอ่อนเป็นของตัวเอง เหมือนกับถ้าเราเอาหนังสือการ์ตูนไปกองไว้ข้างบนเพื่อให้หยิบได้อย่างรวดเร็ว หนังสือวิชาการก็ต้องกองอยู่ข้างล่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหนังสือสองชุดไม่สามารถกองอยู่ข้างบนพร้อมกันได้นั่นเอง เช่นเดียวกับการทำงาน การทำงานให้ดีกว่าเดิมทุกทางเป็นเรื่องยาก เพราะความคิดของมนุษย์ส่วนมากล้วนเทียบเท่ากัน ดังนั้นงานของคนหนึ่งถ้ามีข้อดีอันหนึ่ง ก็ต้องมีข้อเสียอีกอันหนึ่งพร้อมกันด้วย ดังนั้นการทำงานแท้จริงแล้วจึงเป็นการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบางประการเท่ากัน เพื่อให้เรื่องหนึ่งดีกว่าเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ นั่นคือการแสดงมุมมองใหม่ๆ อันเป็นมุมมองของเรานั่นเอง